-
- ข้อมูล อบต.
- ข่าว/กิจกรรม
- ข้อมูลการดำเนินงาน
- การป้องกันการทุจริต
- บริการประชาชน
ควนเจดีย์ ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
ประวัติความเป็นมา : เจดีย์บนควนเจดีย์ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน ปรากฏเพียงเรื่องเล่าต่อกันมาว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสัมพันธ์กับประวัติของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดโดยเล่าสืบกันต่อมาว่าเมื่อครั้งหลวงปู่ทวดได้ไปอยู่เมืองไทรบุรี ท่านได้สร้างวัดไว้ในไทรบุรีวัดหนึ่งชื่อ "วัดโกระไหน" และเมื่อสมเด็จเจ้ามรณภาพที่วัดโกระไหนศพได้ถูกนำไปประชุมเพลิงที่วัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี ตามที่ท่านสั่งไว้ การนำศพกลับต้องหยุดพักตามรายทาง พัก ณ ที่ใด ก็ปักไม้แก่นหมายไว้ทุกแห่ง แม้แต่น้ำเหลืองหยด ณ ที่ใด ก็ให้ปักหมายไว้เช่นเดียวกัน หรือไม่ก็ให้พูนดินให้สูงขึ้น ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า “สถูปท่านลังกา” เส้นทางที่หยุดพักนั้น ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่บอกแก่พระครูธรรมกิจโกศลและอาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างไห้รูปก่อนเมื่อคราวออกจาริกธุดงค์สืบประวัติสมเด็จเจ้าในมาเลเซีย เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว บอกว่าเส้นทางที่หยุดพักศพมี 10 แห่ง รวมต้นทางและปลายทางเป็น 12 แห่ง ได้แก่ วัดโกระไหน บาลิง ดังไกว คลองช้าง ดังแปร ลำปรำ ปลักคล้า คลองสาย ไทรบูดอ ควนเจดีย์(อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา) และวัดช้างไห้
สิ่งสำคัญ : เจดีย์ ตั้งอยู่บนยอดเขา ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักรบันทึกสิ่งสำคัญไว้ว่า มีเจดีย์ก่อด้วยปูนขาวที่บนควน 5 องค์ เจดีย์องค์กลางวัดฐานโดยรอบ 12 ศอก เจดีย์องค์ข้าง 4 องค์ หรือสี่ทิศ องค์หนี่งๆ มีฐานโดยรอบ 8 ศอก สภาพปัจจุบันเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง มีเจดีย์องค์ใหญ่เป็นเจดีย์ประธานอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยองค์เจดีย์ขนาดเล็กประดิษฐานอยู่สี่มุม บริเวณรอบๆ เจดีย์ ประกอบด้วยหินก้อนเล็กใหญ่วางกระจัดกระจายอยู่
การประกาศขึ้นทะเบียน : กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณควนเจดีย์ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3715
ที่มา : ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม ในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมศิลปากร